ประมวลกฎหมายอาญา |
---|
มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6647/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 353 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลบริหารจัดการด้านการบริหาร การเงิน วางแผนการดำเนินการรวมถึงงบประมาณของโจทก์ และรับผิดชอบงานอื่นตามที่โจทก์มอบหมายแล้วจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยรับจัดงาน จัดกิจกรรมของการกีฬาแห่งประเทศไทยอันเป็นงานที่มีลักษณะเดียวกับกิจการของโจทก์ โดยกระทำในนามของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองทรัพย์ของผู้ที่มอบหมาย การที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานต่าง ๆ ของโจทก์ตามฟ้องจึงมิใช่การได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 และที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 เห็นว่า การกระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการกระทำความผิดต่อนิติบุคคลที่บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยรับจัดงาน จัดกิจกรรมของการกีฬาแห่งประเทศไทยอันเป็นงานที่มีลักษณะเดียวกันกับกิจการของโจทก์ โดยกระทำในนามของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้น เป็นการกระทำที่แสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นคือ การกีฬาแห่งประเทศไทย มิใช่การกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์จากโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบ แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะทำให้โจทก์ขาดประโยชน์หรือขาดรายได้ ก็มิได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายมากไปกว่าเดิมในลักษณะที่ต้องสูญเสียทรัพย์สิน หรือสูญเสียประโยชน์ที่เคยเป็นของโจทก์มาก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่โจทก์ฟ้องว่ากระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12058/2555 เมื่อพิจารณาเนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์โดยตลอดแล้วแสดงว่าโจทก์มีเจตนาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น มิใช่โจทก์มีเจตนาที่จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินกว่าสามปี การต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เป็นการตัดสิทธิคู่ความจึงต้องพิจารณาด้วยความเคร่งครัดโดยถือเจตนาของโจทก์เป็นสำคัญ เมื่ออุทธรณ์โจทก์มีเจตนาให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 353 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หนักขึ้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุก ซึ่งเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 |
บทความที่น่าสนใจ |
-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร
|